วันที่ 15 สิงหาคม 2562 สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดสงขลา นำโดยนายสัตวแพทย์กิติกรณ์ เจนไพบูลย์ ปศุสัตว์จังหวัดสงขลา จัดฝึกการซักซ้อมแผนเฝ้าระวังป้องกันและควบคุมโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรระดับจังหวัด รูปแบบเฉพาะหน้าที่ (Functional Exercise : FEX) ณ ห้องประชุมเทศบาลนครสงขลา อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา โดยมีผู้ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ปศุสัตว์อำเภอ อาสาปศุสัตว์ประจำอำเภอ เกษตรอำเภอ เกษตรตำบล เกษตรกรรายย่อย เจ้าของฟาร์มสุกรรายใหญ่ ผู้นำชุมชน เจ้าหน้าที่ท้องถิ่น และผู้เลี้ยงสุกร เป็นต้น เข้าร่วมซักซ้อมแผนอย่างพร้อมเพรียงกัน
นายสัตวแพทย์กิติกรณ์ เจนไพบูลย์ ปศุสัตว์จังหวัดสงขลา กล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์จากรายงานขององค์การสุขภาพสัตว์โลก (OIE) พบว่าการรนะบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรมีการแพร่ระบาดขยายเป็นวงกว้างขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งแต่ปี 2561 ถึงปัจจุบันได้มีการระบาดใน 20 ประเทศ หลายภูมิภาคทั่วโลก ซึ่งเป็นทวีปยุโรป จำนวน 10 ประเทศ , ทวีปแอฟริกา 4 ประเทศ และทวีปเอเชีย มี 6 ประเทศ ได้แก่ จีน , มองโกเลีย , เกาหลีเหนือ , เวียดนาม , กัมพูชา และล่าสุด ลาว (ข้อมูล ณ วันที่ 26 ก.ค. 62) สำหรับความเสี่ยงในประเทศไทย ประกอบด้วย การลักลอบนำเข้าผลิตภัณฑ์สุกร , การปนเปื้อน (ดูงานต่างประเทศ) , การลักชอบนำเข้าผลิตภัณฑ์สุกร และซากสุกร รวมทั้งการปนเปื้อน ยานพาหนะ วัตถุ อุปกรณ์ กรมปศุสัตว์จึงได้กำหนดมาตรการป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) เพื่อป้องกันการระบาดเข้าสู่ประเทศไทย ดังนี้
1.การจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวังและควบคุมโรค ASF ในสุกร (War Room) ทั้งระดับกรม และระดับจังหวัด
2.การประชาสัมพันธ์ให้บุคคลทั่วไป และประชุมชี้แจงเกษตรกรถึงอันตรายและความเสียหายที่จะเกิดขึ้นหากเกิดการระบาด
3.การตรวจเยี่ยมฟาร์มหมูทุกฟาร์ม และให้คำแนะนำเพื่อปรับระบบการเลี้ยงให้มีระบบป้องกันโรคที่ดี
4.การประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือนักท่องเที่ยวต่างชาติ ห้ามมิให้นำผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ติดตัวเข้ามาประเทศไทย
5.การตรวจสอบและทำลายผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ที่นักท่องเที่ยวต่างชาตินำติดตัวเข้ามา
6.การเข้มงวดการเคลื่อนย้ายสินค้าปศุสัตว์ที่นำเข้า-นำผ่าน-นำออก ตามด่านพรมแดนทุกแห่งของประเทศไทย
7.การเตรียมความพร้อมให้มีระบบการทำลายสุกรที่เป็นโรคและซากสัตว์ที่เป็นพาหะของโรคระบาดให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล เป็นต้น โดยสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดสงขลา ได้จัดการซักซ้อมแผนการดำเนินงานในครั้งนี้ขึ้น เพื่อสร้างความรู้เกี่ยวกับโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรแก่ผู้เลี้ยงสุกร และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เป็นการสร้างมาตรฐานการปฎิบัติงานเฝ้าระวังและป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรที่ถูกต้อง พร้อมทั้งเป็นการทดสอบและประเมินขีดความสามารถของเจ้าหน้าที่ ที่มีหน้าที่รับผิดชอบเฉพาะด้าน รวมทั้งบทบาทที่ใช้ในการเผชิญกับสถานการณ์เกิดโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร
กิจกรรมในครั้งนี้ประกอบด้วย การบรรยายเรื่อง การเฝ้าระวังและป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร การชี้แจงแนวทางการฝึกการเฝ้าระวังและป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร การฝึกปฏิบัติตามสถานการณ์สมมติ และการสรุป พร้อมประเมินผลการฝึกสอน