วันที่ 23 พฤษภาคม 2565 ณ ห้องประชุม สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดสงขลา นายอำพล พงศ์สุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เป็นประธาน ประชุมขับเคลื่อนคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคไข้หวัดนกจังหวัดสงขลา มีนายสัตวแพทย์กิติกรณ์ เจนไพบูลย์ ปศุสัตว์จังหวัดสงขลา นางสาวสุธิดา พฤกษ์อุดม ผู้ช่วยประชาสัมพันธ์จังหวัดสงขลา ผู้แทนจากด่านกักกันสัตว์สงขลา สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสงขลา ท้องถิ่นจังหวัดสงขลา สวนสัตว์สงขลา สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 6 จังหวัดสงขลา สถานีตำรวจภูธรจังหวัดสงขลา ปศุสัตว์อำเภอ 16 อำเภอและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม เพื่อให้การเฝ้าระวังป้องกันการแพร่ระบาดโรคไข้หวัดนก และการปฏิบัติงานควบคุมโรคเป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
ตามที่ ได้มีการรายงานสถานการณ์โรคไข้หวัดนกในสัตว์ปีกทั่วโลก ปี 2565 จำนวน 4 ทวีป ได้แก่ อเมริกา 3 ประเทศ ยุโรป 19 ประเทศ แอฟริกา 7 ประเทศ และเอเชีย 8 ประเทศ โดยพบการระบาดของเชื้อไข้หวัดนกชนิดรุนแรง (HPAI) ในสัตว์ปีก จำนวน 2,113 เคส และยังไม่พบการระบาดของเชื้อไข้หวัดนกชนิดรุนแรงต่ำ (LPA) ส่วนสถานการณ์โรคไข้หวัดนกในคนทั่วโลก ปัจจุบันพบผู้ติดเชื้อแล้ว จำนวน 16 ราย ซึ่งปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดการระบาดและแพร่กระจายของเชื้อมาจากการเคลื่อนย้ายสัตว์ปีก ซึ่งขณะที่ประเทศไทยยังคงไม่พบการระบาดของโรคไข้หวัดนกตั้งแต่ปี พ.ศ.2551
สำหรับการประชุมหารือในครั้งนี้ เป็นการวางแนวทางเฝ้าระวังป้องกันโรคระบาดในสัตว์ปีก ทั้งในการประเมินความเสี่ยง การสื่อสารความเสี่ยง การเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกเชิงรุก และการเฝ้าระวังโรคให้หวัดนกเชิงรับ ทั้งในประเภทของฟาร์มมาตรฐานไก่เนื้อ ไก่ไข่ , สัตว์ปีกเลี้ยงหลังบ้าน สนามชนไก่ สนามซ้อมชนไก่ นกอพยพและนกธรรมชาติ เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น เนื่องจากจังหวัดสงขลามีการเคลื่อนย้ายสัตว์ปีกเข้าจังหวัดเฉลี่ย จํานวน 5 ล้านตัวต่อเดือน และเนื้อสัตว์ 16 ล้านตันต่อเดือน จึงมีความเสี่ยงในการนำเชื้อโรคไข้หวัดนก เข้าสู่พื้นที่
โอกาสนี้ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ได้เน้นย้ำถึงมาตรการการดำเนินการเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนก พร้อมทั้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกอย่างเข้มงวด มีการเข้าใจที่ตรงกันและชัดเจนในการดำเนินงาน ควบคู่กับการรณรงค์ ประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ และความเข้าใจที่ถูกต้องให้แก่ประชาชนในพื้นที่และประชาชนตามแนวชายแดน เพื่อป้องกันการลักลอบนำสัตว์ปีกเข้าพื้นที่อย่างผิดกฎหมาย ตลอดจนขอความร่วมมือเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ปีกและผู้เกี่ยวข้องใกล้ชิด หากพบว่ามีความเสี่ยงหรือความผิดปกติเกิดขึ้นกับสัตว์ปีก หรือนกธรรมชาติในพื้นที่รอบ ๆ ที่มีการเลี้ยงสัตว์ปีก ขอให้แจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อตรวจสอบและดำเนินมาตรการควบคุมโรคอย่างเคร่งครัดต่อไป
https://pvlo-sgk.dld.go.th/webnew/index.php/th/news-menu/activity-news-menu/84-2018-06-14-02-37-40/2534-2022-06-07-03-48-43#sigFreeIde12c4832df