สุนัขและแมวเป็นสัตว์ที่มีความคล้ายคลึงทางสรีรวิทยา ดังนั้นในเวลาที่เราใช้ยาไม่ว่าจะเป็นเรื่องข้อบ่งใช้ของยา ขนาดยา หรือข้อควรระมัดระวังการใช้เรามักจะอนุมานว่าใช้ได้เช่นเดียวกันทั้งในสุนัขและแมว แต่ในความจริงนั้นยาหลายชนิดที่ปลอดภัยต่อสุนัขกลับทำให้เกิดความเป็นพิษต่อแมว เพราะแมวมีความแตกต่างจากสุนัขในเรื่องเภสัชจลนศาสตร์ของยา โครงสร้างของฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดง drug receptor บางชนิด และพฤติกรรม

เภสัชจลนศาสตร์

         ในเรื่องเภสัชจลนศาสตร์ของยาซึ่งเกี่ยวข้องกับขบวนการสำคัญที่ร่างกายกระทำต่อยาได้แก่ การดูดซึม การกระจายตัวเมตาบอลิสมและการขับยาออกจากร่างกาย (ADME) นั้นมีความแตกต่างกันดังนี้

       การกระจายตัวของยาพบว่า แมวมีค่าความเข้มข้นของยาในกระแสเลือดสูงกว่าสุนัขเนื่องจากแมวมีปริมาตรเลือดต่อน้ำหนักตัวประมาณ 66-70 มล./กก. ในสุนัขที่มีปริมาตรเลือดต่อน้ำหนักตัวประมาณ 90 มล./กก.

     

แมวมีเอนไซม์ glucuronyltransferaseและสาร glutathione ในระดับต่ำ โดยเอนไซม์และสารดังกล่าวนี้มีความสำคัญในเมตาบอลิสมของยาบางชนิดที่สำคัญ ได้แก่ acetaminophen (paracetamol) และ aspirin ให้อยู่ในรูปเมตาบอไลต์ที่ไม่เป็นพิษต่อร่างกาย ในกรณีของ aspirin พบว่าค่าครึ่งชีวิตของยาในแมวคือ 37.5 ชม. ในขณะที่ในสุนัขคือ 8.5 ชม. ซึ่งการลดโอกาสการเกิดพิษจาก aspirin ในแมวอาจทำได้โดยเพิ่มระยะเวลาของการให้ยาแต่ละครั้งให้ห่างออกไปก็จะทำให้มีระยะเวลาของการขับยาออกจากร่างกายได้นานขึ้น แต่ในกรณีของ acetaminophen นั้นพบว่าทำให้เกิดความเป็นพิษรุนแรงในแมวทุกตัวที่ได้รับยาเนื่องจากการขาด glucuronyltransferaseนี้จะทำให้วิถีการเมตาบอลิสมอื่นทำงานทดแทนและเกิดเมตาบอไลต์ที่เป็นพิษต่อเม็ดเลือดแดงในลักษณะของการเกิด methemoglobinemia


       แมวมีขบวนการ methylation และhydrolysis ต่ำกว่าสุนัขทำให้เกิดความเป็นพิษจากยากลุ่มที่ใช้ปฏิกิริยาดังกล่าวในการเมตาบอลิสมได้แก่ chloramphenicol, morphine, dipyrone, succinylcholine และ hexachlorophene เป็นต้น

       แมวมีขบวนการ acetylation สูงกว่าสุนัขทำให้มีการขับออกจากร่างกายของยาที่ใช้ปฏิกิริยานี้ในการเมตาบอลิสม (เช่น hydralazine, diltiazem) มีฤทธิ์ระยะสั้นกว่าในสุนัขส่วนยาที่ใช้ปฏิกิริยานี้ในการทำให้เกิด active metabolite (เช่น procainamide)จะทำให้เกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยาในแมวสูงกว่าในสุนัขเนื่องจากเกิด active metabolite อย่างรวดเร็วเกินกว่าที่จะขับออกจากร่างกายได้ทัน

        แมวมีขบวนการ sulfationสูงกว่าสุนัขทำให้ระยะเวลาการออกฤทธิ์ของยากลุ่ม sulfas สั้นกว่าในสุนัข

       โครงสร้างของฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดง พบว่าฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดงของแมวมี sulfhydryl group เป็นองค์ประกอบอยู่มากกว่าในสุนัขทำให้เกิด oxidation ไปเป็น methemoglobinซึ่งทำให้เสียหน้าที่การแลกเปลี่ยนออกซิเจนได้ง่ายเมื่อได้รับยาบางชนิดเช่น acetaminophen, benzocaine, sulfas, nitrofuransและ methylene blue เป็นต้น

       พฤติกรรม แมวมีนิสัยชอบเลียตัวเองอยู่เสมอทำให้มีโอกาสได้รับยาใช้ภายนอกเช่น ยาที่เป็นครีม หรือ spot-on เข้าสู่ร่างกายได้ง่ายกว่าสุนัขซึ่งนำไปสู่การเกิดความเป็นพิษจากยาโดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นสารกำจัดแมลงกลุ่ม pyrethroidเช่น permrthrinซึ่งไม่เป็นพิษต่อสุนัขแต่เป็นพิษต่อแมว

 

บทความโดย นายสัตวแพทย์วีรชัย วิโรจน์แสงอรุณ ปศุสัตว์จังหวัดสงขลา วันที่ 26 ก.พ.2556