นอกจากสารก่อภูมิแพ้ที่สำคัญในอาหาร เช่น โปรตีน “กลูเตน” ในข้าวสาลี ถั่วเหลือง นมโค และอาหารทะเลแล้ว สารก่อภูมิแพ้ชนิดใหม่ของนักโภชนาการ ได้แก่ สารกลุ่ม “ซัลไฟต์”
ซัลไฟต์-ภัยมืดในอาหารที่คาดไม่ถึง
มักจะเป็นที่เข้าใจว่าพบได้เฉพาะในวัตถุเจือปนอาหารที่ใช้เพื่อการถนอมอาหารและการฟอกขาว แต่ในความเป็นจริงแล้ว ซัลไซต์สามารถเกิดขึ้นได้ในกระบวนการผลิตอาหาร โดยเฉพาะในผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์หมักและไวน์ ซึ่งหากผู้ที่มีภาวะแพ้ซัลไฟต์บริโภคผลิตภัณฑ์ดังกล่าว จะมีอาการตั้งแต่การเกิด
ภาวะหอบหืด จนกระทั่งการเกิดภาวะภูมิแพ้เฉียบพลันรุนแรง (Anaphylaxis) ที่อาจถึงแก่ชีวิต
ปริมาณซัลไฟต์ในอาหารแต่ละชนิด
อาหารที่มีซัลไฟต์มากกว่า 100 ppm ซึ่งผู้ที่มีภาวะแพ้ซัลไฟต์ต้องหลีกเลี่ยง ได้แก่ ผลไม้แห้ง (ยกเว้นลูกเกดและลูกพรุน) น้ำมะนาว (ทั้งชนิด lemon และ lime) บรรจุขวดที่ไม่ใช่ชนิดแช่แข็ง ไวน์ กากน้ำตาล กะหล่ำปลีดอง หัวหอมดอง
อาหารที่มีซัลไฟต์ในระดับ 50-99.9 ppm ซึ่งผู้ที่มีภาวะแพ้ซัลไฟต์ต้องหลีกเลี่ยง ได้แก่ มันฝรั่งแห้ง น้ำส้มสายชูหมักจากไวน์
อาหารที่ซัลไซต์ในระดับ 10-49.9 ppm ได้แก่ เพคติน กุ้งสด พริกดอง ผักดอง แป้งข้าวโพด ดอกเห็ดสด ไส้กรอก ผักอบแห้ง ชีส ขนมปังข้าวโพด หอยลายบรรจุกระป๋อง น้ำส้มสายชูหมัก เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประเภท cordial เช่น liqueur
อาหารที่มีซัลไฟต์ในระดับต่ำ (น้อยกว่า 10 ppm) ได้แก่ น้ำส้มสายชูที่ผลิตจากมอลต์ มันฝรั่งกระป๋อง เบียร์ น้ำอัดลม มะพร้าว
การติดฉลากที่ถูกต้องและเหมาะสมจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคในการเลือกซื้ออาหารที่ปลอดภัย และหลีกเลี่ยงความเสี่ยงจากการบริโภคอาหารที่อาจทำให้เกิดอาการแพ้ เพราะอันตรายจากการแพ้อาหารสามารถเกิดขึ้นได้อย่างเฉียบพลันและรุนแรง ทั้งอาจก่ออันตรายถึงชีวิต เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค การตระหนักถึงอันตรายของสารก่อภูมิแพ้ ความรับผิดชอบของผู้ผลิตสินค้าเกษตรและอาหาร รวมทั้งความเข้มงวดในการกำกับดูแลและบังคับใช้กฏระเบียบของภาครัฐจึงเป็นสิ่งสำคัญ
บทความโดย นายสัตวแพทย์วีรชัย วิโรจน์แสงอรุณ ปศุสัตว์จังหวัดสงขลา วันที่ 26 ก.พ. 2556
อ้างอิงจาก วารสารเพื่อการเตือนภัยสินค้าเกษตรและอาหาร ปีที่ 4 ฉบับที่ 44 เดือนธันวาคม 2555