เมื่อเข้าสู่ฤดูฝน สิ่งที่เกษตรกรพึงต้องระวังตนเองและสัตว์เลี้ยง คือ เชื้อโรคต่างๆ ที่มากับน้ำ โดยเฉพาะโรคฉี่หนู หรือโรคเลปโตสไปโรซิส สัตว์หลายชนิดที่เป็นพาหะของฉี่หนู เช่น หนู สุนัข สุกร โค กระบือ รวมทั้งสัตว์ป่าและสัตว์ฟันแทะ

                 เชื้อโรคฉี่หนูนี้ เป็นเชื้อแบคทีเรียที่มีรูปร่างเป็นเกลียวและส่วนปลายคล้ายตะขอ จึงทำให้สามารถเคลื่อนไหวได้อย่างรวดเร็วโดยการหมุน  และไชเข้าทางบาดแผล เยื่อบุตาและปาก หรือผิวหนังที่เปียกชุ่มจากการแช่น้ำเป็นเวลานานได้ ซึ่งเชื้อนี้สามารถอาศัยได้นอกตัวสัตว์ในบริเวณสิ่งแวดล้อมที่เปียกชื้น เช่น ดิน โคลน แอ่งน้ำได้เป็นเวลานาน นอกจากนี้ยังสามารถเข้าสู่ร่างกายของคนและสัตว์ได้จากการกินอาหารหรือน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อเข้าไปด้วย

                 สัตว์ที่ติดเชื้อนี้ได้ง่ายมักจะเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีอายุน้อย หรือลูกสัตว์ที่ไม่เคยได้รับภูมิคุ้มกันจากแม่มาก่อน สัตว์ที่มีสุขภาพไม่สมบูรณ์ซึ่งอาจจะเกิดจากมีความเจ็บป่วยด้วยโรคอื่นมาก่อนหรือภาวะขาดอาหาร การติดเชื้อมีได้ตั้งแต่ไม่ปรากฏอาการ มีอาการอย่างอ่อน อาการรุนแรง หรือถึงขั้นเสียชีวิต การติดเชื้อตั้งแต่แรกเกิดในสัตว์อาจส่งผลให้เกิดความสูญเสียผลผลิตทางปศุสัตว์ อันเนื่องมาจากการแท้ง การตายแรกคลอด หรือสูญเสียผลผลิตน้ำนม รวมทั้งทำให้เกิดความแคระแกรนในลูกสัตว์

                 ในคนที่ติดเชื้อจะมีอาการที่พบบ่อยได้แก่ ไข้หนาวสั่น ปวดศีรษะรุนแรง ปวดกล้ามเนื้ออย่างรุนแรง มักปวดที่น่องและโคนขา อาจมีไข้ติดต่อกันหลายวัน สลับกับระยะไข้ลด ในรายที่มีอาการรุนแรงเฉียบพลัน ผู้ป่วยจะมีอาการดีซ่าน มีเลือดออกตามอวัยวะภายในและตา เยื่อหุ้มสมองอักเสบ นอกจากนี้ยังมีอาการทางระบบทางเดินหายใจ มีอาการไอ หายใจขัด ไอเป็นเลือด ตับและไตวาย ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้

 

อาการของโรค

                 คือ มีไข้ ซึม เบื่ออาหาร เยื่อบุตาอักเสบ เมื่อโรคดำเนินไปมากขึ้น อาการจะชัดเจนมากขึ้น เช่น มีเลือดออก ดีซ่าน มีอาการทางระบบประสาทร่วมด้วย ตับโต ไตล้มเหลว แท้ง ตายแรกคลอด และเต้านมอักเสบ ส่วนในรายที่มีการป่วยเรื้อรัง เชื้อจะไปอยู่ที่ไต โดยอาจแสดงหรือไม่แสดงอาการป่วย เชื้อจะถูกขับออกมาทางปัสสาวะในระยะเรื้อรัง

                การป้องกันโรคทั่วไปในคนก็คือ หากต้องเดินย่ำน้ำท่วม หรือน้ำสกปรก ต้องล้างเท้าให้สะอาดทุกครั้งหลังย่ำน้ำแล้ว และใช้ผ้าสะอาดเช็ดเท้าให้แห้ง อย่าปล่อยให้เท้าเปียก อับชื้น นอกจากนี้ หากจำเป็นต้องอยู่ในพื้นที่น้ำท่วม ต้องสวมใส่รองเท้าบูทให้เรียบร้อย ส่วนการป้องกันในสัตว์นั้น คงต้องเริ่มจากการสุขาภิบาลที่ดีในบริเวณที่เลี้ยงสัตว์ เช่น ทำความสะอาดพื้น ใช้น้ำยาฆ่าเชื้อ ควบคุมสัตว์แทะ เป็นต้น การฉีดวัคซีนป้องกันโรคฉี่หนูให้กับสัตว์เลี้ยงก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะป้องกันโรคได้ ซึ่งปัจจุบันมีการผลิตวัคซีนที่ฉีดให้กับสุนัขและสุกร เมื่อพบสัตว์ป่วยสงสัยเป็นโรคฉี่หนู ให้แยกสัตว์ป่วยออก เพื่อป้องกันการสัมผัสกับสัตว์อื่น ทำการเก็บตัวอย่าง เช่น ซีรั่ม หรือปัสสาสะ เพื่อส่งตรวจยังห้องปฏิบัติการตรวจวินิจฉัยโรคของกรมปศุสัตว์ การรักษาสัตว์ป่วยในระยะเฉียบพลันโดยใช้ยาปฏิชีวนะ Amoxycillin 15 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กก. ฉีดเข้ากล้ามเนื้อวันละครั้ง 3-5 วัน หรือ Oxytetracycline/chlortetracycline 800 กรัม/ตัน ผสมอาหาร 8-11 วัน ส่วนกรณีของสัตว์ป่วยเรื้อรังให้ใช้ Dihydorstreptomycin 25 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กก. ฉีดเข้ากล้ามเนื้อวันละครั้ง 3-5 วัน

 

บทความโดย นายสัตวแพทย์วีรชัย วิโรจน์แสงอรุณ  ปศุสัตว์จังหวัดสงขลา วันที่ 26 ก.พ. 2556