การพัฒนากลุ่มแพะรายย่อยให้เข้มแข็ง
บทความโดย นายสิรพงศ์ ศิริรักษ์ นักวิชาการสัตวบาลชำนาญการ กลุ่มพัฒนาเทคโนโลยีการปศุสัตว์ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดสงขลา
แพะเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่มีความสำคัญเพิ่มขึ้น พื้นที่ปศุสัตว์เขต 9 เป็นแหล่งเลี้ยงแพะหลัก มีจำนวนแพะมากที่สุดถึง 204,535 ตัว เกษตรกร 34,821 ราย ส่วนใหญ่จะมีการเลี้ยงเป็นรายย่อยหรืออาชีพเสริม ไม่เป็นฟาร์มมาตรฐาน ต่อมาในปี 2553-55 รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการเลี้ยงแพะในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ สนับสนุนงบประมาณดำเนินการอุดหนุนผ่านระบบกลุ่ม ทำให้มีการรวมกลุ่มเกษตรกรรายย่อยเพื่อเลี้ยงแพะเพิ่มขึ้น มีการผสมผสานวิธีการสนับสนุนส่งเสริมเพื่อให้เกิดความยั่งยืน โดยที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มียุทธศาสตร์การเกษตร ฉบับที่10 ส่งเสริมการสร้างสถาบันเกษตรกรและเครือข่ายเกษตรกรให้เข้มแข็งสามารถพึ่งพากันเองในด้านวิชาการ การจัดการเรียนรู้ การตลาด อีกทั้งกรมปศุสัตว์ได้มีการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาปศุสัตว์แบบมีส่วนร่วมสำหรับเกษตรกรรายย่อย เพื่อพัฒนาศักยภาพและเสริมสร้างความเข้มแข็งแก่เกษตรกรผู้ลี้ยงสัตว์อีกด้วย สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดสงขลาได้ดำเนินการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ดังกล่าวตั้งแต่ปี2554 โดยขึ้นทะเบียนกลุ่มเกษตรกรเลี้ยงแพะ 114 กลุ่ม 1,501 ราย จากการดำเนินการ มีข้อเสนอแนะการดำเนินการพัฒนากลุ่มที่นำไปสู่ความเข้มแข็งมีดังนี้
1. ลักษณะบ่งชี้ถึงความเข้มแข็งกลุ่มมีอยู่ในองค์ประกอบในด้านต่าง ๆ คือ 1) การมีส่วนร่วมจากการประชุมคณะกรรมการและการประชุมกลุ่ม, 2) การพึ่งพาตนเอง จากการที่สมาชิกร่วมคิดแก้ไขปัญหากลุ่ม, 3) การจัดการได้ จากการที่มีการให้บริการสนับสนุนการเลี้ยง, เก็บข้อมูลการเลี้ยงสัตว์, จัดกิจกรรมให้ความรู้, การจัดหาทุนดำเนินการกลุ่ม, ทำบัญชีและรายงานต่อที่ประชุม, 4) การสร้างผลผลิตได้ จากการร่วมกันสร้างผลผลิตเป็นผลสำเร็จ และ ผลผลิตเพิ่มขึ้น และ 5) การสร้างทุนสังคม จากการมีกิจกรรมเพื่อสาธารณประโยชน์,สมาชิกร่วมกิจกรรมชุมชน และ มีกิจกรรมเชื่อมโยงกับชุมชน ในภาพรวมแล้วมีความเข้มแข็งกลุ่มในระดับการดำเนินการปานกลาง.
2. กลุ่มแพะรายย่อยมีโครงสร้างขนาดเล็ก ดังนั้นการพัฒนากลุ่มจึงอาจต้องลดเป้าประสงค์ในการผลักดันขีดความสามารถกลุ่มให้เป็นไปตามนโยบายลงบ้าง แม้ว่าอาจเป็นสิ่งที่ตรวจวัดได้ง่าย เช่น การออมเงิน,การมีระเบียบกฎเกณฑ์ที่เป็นทางการ. โดยเน้นให้กลุ่มพัฒนาพฤติกรรมกลุ่มอย่างเป็นธรรมชาติ เช่น มีปฏิสัมพันธ์ภายในกลุ่ม ต่อเมื่อได้มีการจัดการงานร่วมกัน, มีการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันอย่างใกล้ชิด เช่น การตกลงจัดการผลผลิตร่วมกัน ซึ่งผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจะเป็นการดำเนินการร่วมกัน. นอกจากนั้นแล้ว การที่กลุ่มมีขนาดเล็กน่าจะกระตุ้นการสร้างบรรยากาศการมีส่วนร่วมเพิ่มขึ้นได้ง่าย แม้อาจขาดทักษะที่หลากหลายภายในกลุ่มเอง ซึ่งเจ้าหน้าที่ส่งเสริมจะมีบทบาทในการเติมเต็มส่วนที่ขาดได้.
3. เป้าหมายของกลุ่ม เป็นเหตุผลที่จะตอบว่าทำไมกลุ่มจึงยังอยู่ เพราะเป้าหมายของกลุ่มเป็นจุดหมายปลายทาง สมาชิกจะต้องค้นหาจุดร่วมที่ไม่ขัดแย้งกัน, เปิดใจเข้าหากัน, มีบทบาทร่วมกัน, ผ่อนคลายกฏเกณฑ์ข้อบังคับกลุ่ม. ให้โครงสร้างกลุ่มรองรับการดำเนินงาน. เน้นให้กลุ่มมีพฤติกรรมมุ่งสร้างงานของกลุ่ม, โครงการ,แผน และเป้าหมาย จึงจะสามารถนำไปสู่ความเข้มแข็งกลุ่มที่ยั่งยืนได้.
กลุ่มแพะรายย่อยเข้มแข็งที่ดีที่สุดในจังหวัดสงขลา คือ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเลี้ยงแพะปากบางระโนด เป็นกลุ่มเกษตรกรดีเด่นอันดับ 2 ของประเทศ ปี2556