การเลี้ยงแพะ แกะ สัตว์ขนาดเล็ก
แพะแกะเป็นสัตว์ที่สามารถใช้ประโยชน์จากอาหารหยาบคุณภาพต่ำได้ดี เกษตรกรรายย่อยสามารถเลี้ยงขายเพิ่มรายได้ เกษตรกรทั่วไปเลี้ยงแบบไล่ต้อนไปแทะเล็มหญ้าตามทำเลสาธารณะ ในแขวงจำปาสัก สาธารณรัฐประชาธิปไตยประเทศลาว ส่วนใหญ่เกษตรกรเป็นแบบยังชีพมีการเลี้ยงแพะเนื้อมาก เพราะเลี้ยงง่าย ทนทาน เลี้ยงแบบไล่ต้อนตามทำเลสาธารณะ
การเลี้ยงแพะด้วยกระถินสด
ศูนย์วิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีอุทัยธานี กรมปศุสัตว์ ได้ศึกษาการใช้กระถินสดเลี้ยงโดยใช้ลูกแพะหย่านมพันธุ์พื้นเมืองคละเพศอายุ 2 ถึง 3 เดือน มาเลี้ยงโดยสร้างคอก 2 รูปแบบ ได้แก่ คอกสร้างบนดิน และ คอกยกพื้นสูง เกษตรกรบางรายใช้แคร่ไม้ไผ่ที่สูงจากพื้นประมาณ 30-50 ซม. แทนการใช้คอกยกพื้นสูง
ประโยชน์จากการเลี้ยงด้วยวิธีนี้ได้แก่ ไม่ต้องไล่ต้อนแพะไปเลี้ยง เนื่องจากกระถินมีโปรตีนสูง จึงทำให้แพะโตเร็วกว่าการเลี้ยงปล่อยแบบธรรมชาติซึ่งปกติการเลี้ยงจากแรกเกิดจนถึงส่งตลาดที่น้ำหนักประมาณ 20 กก.ใช้เวลา 10 ถึง 12 เดือน แต่การเลี้ยงแบบนี้ใช้เวลาเพียงประมาณ 6 เดือน
มีเกษตรกรบางรายใช้เครื่องบดกิ่งกระถินรวมทั้งใบสดให้แพะกิน แพะก็สามารถกินได้ตามปกติ ดังนั้นแพะจึงเป็นสัตว์ที่สามารถเป็นเครื่องมือเปลี่ยนเยื่อใยพืชที่สัตว์อื่นโดยใช้ประโยชน์ได้ยากให้เป็นเนื้อและมูลเป็นปุ๋ยบำรุงดิน
การเลี้ยงแพะนม
ในต่างประเทศถือว่าแพะนมเป็นวัวของคนจน เพราะเป็นสัตว์เคี้ยวเอื้องที่มีขนาดเล็ก จึงลงทุนน้อย ต้องการอาหารไม่มากเหมาะสำหรับคนจน
นมแพะข้อดี(จากสุภาณี ด่านวิริยะกุล 2548) ได้แก่ มีโปรตีนสูงกว่านมวัวเล็กน้อย เม็ดไขมันเล็กกว่านมวัว 1/3 ถึง ½ เท่า เมื่อบริโภคทำให้ร่างกายย่อยได้ง่ายทำให้เกิดภูมิแพ้น้อยกว่า ผู้ป่วยมะเร็งทางเดินอาหารหลายรายเชื่อว่าการดื่มนมแพะ ช่วยให้หายจากการเป็นมะเร็ง ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าในระหว่างที่ป่วยร่างกายดูดซึมอาหารอื่นได้ยาก นมแพะดูดซึมได้ง่ายจึงอาจทำให้ร่างกายแข็งแรง สามารถต่อสู้กับโรคร้ายได้ คุณสมบัตินี้หากมีผลการวิจัยสนับสนุนอาจใช้เป็นจุดแข็งในการตลาดวิถีเฉพาะของนมแพะได้
คอกแพะยกพื้นสูง พื้นไม้ระแนง ตีห่างให้มูลแพะตกลงพื้นข้างล่างได้ มีการระบายอากาศตามธรรมชาติอย่างเพียงพอ ไม่เทพื้นคอนกรีตใต้พื้นคอกที่รองรับมูลแพะ น้ำปัสสาวะและมูลสัตว์ภายใต้คอกจะดูดซึมด้วยดิน พ่นน้ำหมักชีวภาพสัปดาห์ละครั้ง ขนมูลออกเดือนละครั้ง
การรีดนมเน้นความสะอาดและความเป็นธรรมชาติสามารถทำให้แม่แพะหลั่งน้ำนมอย่างมีความสุข แม่แพะรีดนมอย่างหมุนเวียนครั้งละ 12- 15 ตัว ให้น้ำนมวันละ 25-30 ลิตร รีดนมอย่างเป็นธรรมชาติ รีดด้วยมือ โดยสังเกตจากแม่แพะเคี้ยวอื้องอย่างมีความสุขขณะรีดนมทำให้หลั่งน้ำนมดีมีคุณภาพ เน้นความสะอาดเวลารีดนม การทำความสะอาดที่ได้มาตรฐานทุกประการ
มีการใช้พืชสมุนไพร และน้ำหมักชีวภาพ เรียนรู้การทำสมุนไพรชีวภาพ ดังนี้
1)สูตรสำหรับพ่นและล้างคอก ทำปุ๋ยหมัก ลดกลิ่นโดยราดมูลแพะใต้คอก อาทิตย์ละครั้ง
-เศษผัก + น้ำตาล + น้ำ 40:10:10 + หัวเชื้อ พด.2 หมักนาน 7 วัน
2)สูตรผสมน้ำให้สัตว์กิน
-ผลไม้ + น้ำตาล 3:1 + เชื้อธรรมชาติ
3)สูตรกำจัดแมลงในคอก อาบน้ำแพะ กำจัดเห็บ
-ข่า บอระเพ็ด ตะไคร้หอม สะเดา + น้ำตาล 3:1
4)สูตรป้องกันกำจัดพยาธิ ผสมน้ำให้แพะกิน
-หมักสมุนไพรกำจัดพยาธิ เช่น ใบกระท้อน ตำลึง + น้ำตาล 3:1 เข้มข้น
จัดสภาพแวดล้อมในฟาร์มใกล้เคียงกับธรรมชาติ และจัดสวัสดิภาพสัตว์อย่างเหมาะสม ทำให้แพะมีความสุข ไม่เครียด คอกแบ่งตามขนาดและประเภทแพะ ไม่แออัด แพะอยู่สบาย ให้อยู่รวมฝูงเพื่อให้แพะมีความสัมพันธภาพกัน มีพื้นที่ปล่อยออกกำลัง
การดูแลสุขภาพสัตว์ เน้นการคัดแม่พันธุ์ร่วมกับการจัดการคอกโรงเรือนที่อยู่อาศัยที่ดี สะอาด สบาย การปล่อยให้แพะแทะเล็ม และให้ถูกแสงแดดทุกวัน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันโรคโดยธรรมชาติ ก่อนขึ้นคอกแพะมีอ่างน้ำยาฆ่าเชื้อจุ่มเท้า
การเลี้ยงแกะ
เนื้อแพะและเนื้อแกะไม่แตกต่างกันมากนัก สามารถทดแทนกันได้ แต่แกะมีประโยชน์มากกว่าแพะที่สามารถให้ขนเป็นเครื่องนุ่งห่มได้ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงส่งเสริมให้ชาวไทยภูเขาที่อยู่ห่างไกลเลี้ยงแกะขนสามารถทอเป็นผ้าขนแกะได้ การเลี้ยงแกะจึงช่วยให้ชาวบ้านพึ่งตนเองด้านเครื่องนุ่งห่มได้ส่วนหนึ่ง สำหรับองค์การด้านสังคมสงเคราะห์ แทนที่จะต้องไปแจกผ้าห่มกันหนาวให้ทุกปี หากให้ชาวบ้านยากจนเลี้ยงแกะโดยทอผ้าขนแกะได้เองก็จะแก้ปัญหาได้ในระยะยาว หรือช่วยซื้อผ้าขนแกะไปแจกให้ที่อื่นจะทำให้เกษตรกรเหล่านี้มีรายได้เพิ่มขึ้น
สัตว์ชนิดอื่น
นักวิชาการต่างประเทศเริ่มเห็นความสำคัญของสัตว์ขนาดเล็กๆ (minilivestock) ที่ชาวบ้านหาได้ตามธรรมชาติมาใช้เป็นอาหารเช่น กระต่าย แย้ กบ เป็นต้น เพราะสัตว์เหล่านี้เป็นแหล่งอาหารโปรตีนของชาวบ้านด้วย
อ้างอิงจาก หนังสือความหลากหลายทางชีวภาพกับการผลิตปศุสัตว์ ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ของยอดชาย ทองไทยนันท์