การปรับวิธีการเลี้ยงไก่แบบชาวบ้านเพื่อป้องกันไข้หวัดนก
การขาดการสุขาภิบาลในการเลี้ยงที่ดี การค้าและการเคลื่อนย้ายสัตว์ปีกเป็นสาเหตุสำคัญในการแพร่กระจายโรคไวรัส ไข้หวัดนกถูกทำลายได้โดยง่ายหากมีการจัดการที่ดี ไวรัสต้องการ PH 6.5 – 7.0 ถูกทำลายที่อุณหภูมิ 70 องศาเซลเซียส ในเวลาเพียงไม่กี่วินาที การโดนแสงรังสีก็ลดความสามารถในการติดเชื้อได้ ระยะฟักตัวในสัตว์ปีก 3-5 วัน บางรายอาจนานถึง 3 สัปดาห์
แนวทางปฏิบัติเพื่อช่วยกันกำจัดหรือควบคุมโรคไข้หวัดนกเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของชาวบ้านในชนบท
1. การสร้างคอกไก่
ควรอยู่ห่างจากบ้านที่อยู่อาศัยพอประมาณ (อย่างน้อย 20 เมตร) เพื่อป้องกันการติดต่อของโรคจากไก่มาสู่สมาชิกในครอบครัว สร้างด้วยวัตถุที่หาได้ในท้องถิ่นหากบริเวณใกล้เคียงเกิดโรคระบาดก็สามารถกักไก่ไว้ในคอกเพื่อสามารถดำเนินการตามมาตรการสุขาภิบาล ตามวิชาการทางสัตวแพทย์ได้ คอกที่สร้างเพื่อป้องกันโรคไข้หวัดนกควรให้แสงแดดส่องเข้าไปถึงพื้นคอกเพื่อฆ่าเชื้อได้เวลาช่วงหนึ่ง
2. การสุขาภิบาล
ในเวลาปกติไม่เกิดโรค ควรนำมูลไก่ออกจากคอกอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง ใช้สาร ใช้อีเอ็ม หรือน้ำหมักชีวภาพให้ไก่กินและพ่นหรือราดคอกเป็นประจำเมื่อเกิดโรคระบาดควรขังอยู่ในคอกการใช้สารอีเอ็มหรือน้ำหมักชีวภาพพ่นฆ่าเชื้อในคอกหรือที่ไก่นอนหรือให้ไก่กินในปริมาณมากขึ้น อาจช่วยป้องกันโรคได้ ตามประสบการณ์ของเกษตรกรที่กล่าวมาแล้วหากยังไม่มั่นใจในการใช้อีเอ็มและน้ำหมักในการป้องกันโรค ควรทำการศึกษาวิจัยเพิ่มเติม
3.ปรับวิธีการขายไก่
เกษตรกรหรือพ่อค้าไก่ท้องถิ่นจะนำไก่มีชีวิตไปขายที่ตลาดสดชุมชนเมืองหากมีไก่จากบางแห่งเป็นโรคเกษตรกรหรือพ่อค้าก็จะเป็นพาหะนำโรคกลับไปหมู่บ้านเหมือนกัน แนวทางการพัฒนาปรับปรุงได้แก่ จัดตลาดนัดไก่มีชีวิตในชุมชนให้วิสาหกิจชุมชนฆ่าชำแหละขายเป็นไก่สดขายส่งให้พ่อค้าท้องถิ่นนำไปขายต่อเป็นต้น
4.การมีส่วนร่วมของชุมชน
เป็นปัจจัยสำคัญของความสำเร็จในการใช้มาตรการป้องกันกำจัดโรคไข้หวัดนก ควรให้ชุมชนชนบทตระหนักว่าหากเกิดโรคแล้วชาวบ้านจะเกิดความสูญเสียอย่างมาก ให้ชุมชนสนับสนุนชาวบ้านสร้างคอกไก่และจัดการด้านสุขาภิบาลที่ถูกสุขลักษณะ ไม่ชื้อไก่จากนอกหมู่บ้านมาบริโภคหากไม่จำเป็น สร้างช่องทางสื่อสารในการแจ้งข้อมูลแก่เจ้าหน้าที่หากสงสัยว่าอาจมีการเกิดโรค รับรองว่าเป็นหมู่บ้านที่ดำเนินการตามมาตรการป้องกันโรคไข้หวัดนกเพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภค และชุมชนสามารถกำกับดูแลฟาร์มเป็นการค้าในพื้นที่ที่ไม่ปฏิบัติตามมาตรการที่ทางราชการได้กำหนด เพราะหากเกิดโรคในฟาร์มเหล่านี้ ไก่ของชาวบ้านในพื้นที่จะต้องถูกทำลายไปด้วย
อ้างอิงจาก หนังสือความหลากหลายทางชีวภาพกับการผลิตปศุสัตว์ ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ของยอดชาย ทองไทยนันท์