เรามาทำความรู้จักองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกหรือ WSPA กันนะครับ

 

      ระหว่างวันที่ 6-8 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ได้มีโอกาสเข้าร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่องมาตราฐานและแนวทางการให้ความช่วยเหลือด้านปศุสัตว์ในภาวะภัยพิบัติ  (Livestock Emergensy Guidelines and Standard ; LEGS) ซึ่งจัดประชุมโดยองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก หรือ World Society for the Protection of Animals ชื่อยาวมาก เรามาเรียกสั้นๆว่า  WSPA

      WSPA เป็นหน่วยงานภาคเอกชนหรือที่เรียกกันว่า NGO มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ประเทศอังกฤษ มีวัตถุประสงค์เพื่อปกป้องคุ้มครองสวัสดิภาพสัตว์และยุติการทารุณกรรมสัตว์อย่างถาวร มีเครือข่ายกว่า 900 องค์กร ใน 150 ประเทศ มีสำนักงาน 13 แห่งทั่วโลก และแน่นอนว่า  1 แห่ง ในนั้นอยู่ที่ กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย มีการทำงานแบบช่วยเหลือโดยตรงกับสัตว์และเจ้าของสัตว์  เครือข่ายท้องถิ่น  และแบบร่วมกันกับส่วนราชการ หากสนใจรายละเอียดเพิ่มเติมเข้าไปที่   http://www.wspathailand.org/ และที่ www.facebook.com/wspathailand.org

      ในการประชุมเชิงปฏิบัติการนั้น ทาง WSPA แจ้งว่า ในต่างประเทศได้มีการใช้มาตราฐานและแนวทางการให้ความช่วยเหลือด้านปศุสัตว์ในภาวะภัยพิบัติขึ้นแล้ว โดยมี   แนวทางตามคู่มือ LEGS  ฉบับมาตรฐาน ขณะนี้งานที่สำคัญของ WSPA คือการผลักดันให้ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค ร่วมกันกำหนดแนวทางของแต่ละประเทศ เพื่อใช้เป็นมาตรฐานสากลในการปฏิบัติและเครื่องมือในการตัดสินใจการช่วยเหลือชุมชนที่พึ่งพาปศุสัตว์ในการดำรงชีพ ในประเทศไทยได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งแรก จำนวน 9 จังหวัดในภาคกลาง ที่จังหวัดชัยนาท และครั้งที่สอง จัดที่จังหวัดตรัง มีผู้เข้าร่วมประชุมจาก 9 จังหวัด เป็นผู้แทนจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และกรมปศุสัตว์ และเจ้าหน้าที่ในพื้นที่เสี่ยงกลุ่มจังหวัดภาคใต้เข้าร่วมประชุม  และคาดว่าครั้งที่สามจะจัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อรวบรวมข้อมูลของแต่ละพื้นที่ เพื่อจัดทำคู่มือ LEGS ฉบับประเทศไทย

      มีเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจ  ในการพูดคุยกันเรื่องโรคพิษสุนัขบ้า ว่าขณะนี้  WSPA มีส่วนร่วมในการปลูกฝังจิตสำนึกให้เด็กนักเรียน โดยจัดหลักสูตร “ การศึกษาสวัสดิภาพสัตว์เบื้องต้นสำหรับครู” ให้กับคุณครูใน กทม.โดยแทรกลงไประหว่างชั่วโมงเรียน เพื่อต้องการให้เด็กกลับไปบอกผู้ปกครอง ลด/เลิกทัศนคติ ที่จะซื้อสัตว์มาเลี้ยงเพราะต้องการให้เด็กรู้จักรับผิดชอบ หรือเป็นเพราะความน่ารัก แล้วทิ้งมันเมื่อเบื่อ หรือเมื่อรู้สึกว่าเป็นภาระ น่ารำคาญ  ขอกระซิบว่า อยากให้ WSPA ประสานกับกระทรวงศึกษาธิการ บรรจุหลักสูตรนี้ไปทั่วประเทศเลย เพื่อที่เราจะมีแนวร่วมเพิ่มขึ้นอีกจำนวนมากในการช่วยกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าให้หมดไปจากประเทศไทย

      ขอปรบมือดังๆ ให้กับ WSPA ที่ช่วยกันดูแลสัตว์ทั้งในภาวะเกิดภัยพิบัติ หรือสัตว์ถูกทารุณกรรม โดยการให้ความช่วยเหลือสัตว์ /เจ้าของโดยตรง  โดยเฉพาะในด้านการฟื้นฟูจิตใจ ซึ่งเป็นสิ่งที่ภาคเอกชนสามารถเติมเต็มในช่องว่างที่ขาดอยู่  ตามแนวทางของราชการ เราให้ความช่วยเหลือ ทดแทนทางด้านปศุสัตว์เป็นตัวเงิน ใช้มุมมองทางด้านเศรษฐกิจ เป็นรายได้  แต่ในความเป็นจริงแล้ว การให้ความช่วยเหลือกันโดยไม่เลือกชนชั้น หรือแบ่งว่าเป็นสิ่งมีชีวิตชนิดไหน เป็นสัตว์หรือมนุษย์ หากนับว่าเป็นผู้ตกอยู่ในความเดือดร้อน ชะตากรรมเดียว หากโลกเรามีมุมมองแบบนี้ สังคมจะมีความน่าอยู่ขึ้นมาก ภาคเอกชนเป็นส่วนสนับสนุนที่สำคัญ ในการให้ความช่วยเหลือด้านนี้  เนื่องจากไม่ยืดติดกฎระเบียบ และเป็นการใช้เงินบริจาค ในการช่วยเหลือสัตว์ที่ประสบภัย หรือถูกทารุณกรรม  ตรงตามวัตถุประสงค์ของผู้บริจาค  และสุดท้ายนี้ขอให้การจัดทำคู่มือ LEGS ฉบับประเทศไทย สำเร็จในระยะเวลาอันใกล้ เพื่อที่เราในภาคราชการ และภาคเอกชนจะได้ร่วมมือกันช่วยเหลือ และลดเรื่องน่าเศร้าที่สัตว์มักจะถูกลืมเสมอในภาวะภัยพิบัติต่อไป

บทความโดย      นายวัฒนพล พลอยมีค่า  หัวหน้ากลุ่มยุทธศาสตร์และสารสนเทศการพัฒนาปศุสัตว์            สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดสงขลา