ปศุสัตว์กับระดับเศรษฐกิจพอเพียง

  

            สังคมมักมองปศุสัตว์ว่าเป็นตัวการในการทำลายสภาพแวดล้อม ทำให้เกิดโรคติดต่อถึงคน และเลี้ยงสัตว์แบบทรมานในแง่ของสวัสดิภาพสัตว์ (animal welfare) สิ่งเหล่านี้เป็นจริงในการเลี้ยงสัตว์แบบการค้าที่ใช้เทคโนโลยีจากตะวันตก เช่น การเลี้ยงหมูและไก่ของฟาร์มแบบการค้า แต่ไม่เป็นจริงกับการเลี้ยงสัตว์ของเกษตรกรรายย่อย

            ความพอเพียงระดับครอบครัว

            การเลี้ยงสัตว์ในเกษตรรายย่อยจะช่วยแก้ปัญหาความยากจนได้โดยตรง เพราะสัตว์ที่ผลิตได้จะเป็นอาหารโปรตีนของครอบครัวและท้องถิ่น เป็นเงินออมและสินทรัพย์ไว้ขายเมื่อต้องการใช้เงิน ชนิดสัตว์ที่เกษตรกรเลี้ยงและประโยชน์ที่ได้รับ

 

            สัตว์ที่เหมาะสมกับครอบครัวเกษตรกรรายย่อยในระดับพึ่งตนเองได้แก่ ไก่พื้นเมือง  เป็ดเทศ  โดยเลี้ยงแบบปล่อยให้หากินอาหารบริเวณบ้านและไร่นา ให้อาหารเสริมบางส่วน เช่น ข้าวเปลือก เศษพืชผักที่เหลือจากการเกษตร อาหารที่เหลือจากการบริโภคในครอบครัว วัตถุประสงค์หลักเพื่อใช้ไข่และเนื้อบริโภคเป็นแหล่งอาหารโปรตีนในครอบครัว และขายเป็นเงินสดในยามขัดสน แหล่งขายได้แก่ หมู่บ้าน ตำบล ตลาดในชุมชนเมืองและนคร

            เกษตรกรมักเลี้ยงสัตว์มากกว่า 1 ชนิดเพื่อใช้ประโยชน์ของสัตว์ที่แตกต่างกันและกระจายความเสี่ยงเมื่อเกิดความเสียหายและโรคสัตว์ การเลือกชนิดสัตว์ที่เลี้ยงขึ้นอยู่กับความจำกัดของตลาดและฐานะทางเศรษฐกิจ เกษตรกรจะเลี้ยงสัตว์ปีกก่อน เมื่อมีฐานะดีขึ้นก็จะเลี้ยงหมู แพะ แกะ และวัวควายตามลำดับ เรียกว่าเป็นขั้นบันไดของการเลี้ยงสัตว์ (livestock  ladder) ซึ่งจะต้องพึ่งพาตลาดในชุมชนเพราะผลผลิตจากสัตว์เหล่านี้สมาชิกครอบครัวไม่สามารถบริโภคได้หมด ผลพลอยได้จากการลี้ยงสัตว์ได้แก่มูลสัตว์เป็นปุ๋ยบำรุงดิน ทำให้สภาพแวดล้อมดีขึ้น

 

            ความพอเพียงระดับหมู่บ้านหรือตำบล

            สัตว์ที่เหมาะสมกับความพอเพียงก้าวหน้าแบบรวมกลุ่มได้แก่ หมูพื้นเมือง หมูลูกผสมที่เลี้ยงแบบหลังบ้าน แพะ แกะ วัวพื้นเมือง และควาย เลี้ยงแบบใช้อาหารสัตว์ที่ผลิตได้ที่มีอยู่ในไร่นา และท้องถิ่นเป็นหลัก เช่น รำข้าว ข้าวโพดบด ใบข้าวโพด มันเส้น ใบสำปะหลัง เป็นต้น

            สัตว์เหล่านี้เมื่อฆ่าชำแหละแล้วสมาชิกในครอบครัวไม่สามารถบริโภคได้หมดภายใน 2-3 วัน จึงต้องขายเป็นสัตว์มีชีวิตให้พ่อค้าคนกลางซื้อไปชำแหละเป็นเนื้อส่งตลาดสดในชุมชนเมือง และชาวบ้านในท้องถิ่นต้องไปซื้อจากในเมืองเพื่อไปบริโภค หากมีการรวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชนแปรรูปขายในชุมชนหรือส่งเนื้อส่วนหนึ่งไปขายก็จะสร้างความมั่นคงให้แก่ครอบครัวเกษตรกรและท้องถิ่นได้

 

            ความพอเพียงระดับชุมชนเมือง (อำเภอ จังหวัด)

            สัตว์ที่เหมาะสมกับความพอเพียงก้าวหน้าแบบเครือข่ายได้แก่ ไก่เนื้อ ไก่ไข่ หมูขุน แบบเป็นการค้า วัวเนื้อ วัวนม และควาย ที่เกษตรกรฆ่าชำแหละแล้วบริโภคในหมู่บ้านไม่หมด

            ความพอเพียงระดับรัฐวิสาหกิจธุรกิจในประเทศ

            การเชื่อมโยงเครือข่ายทางธุรกิจระหว่างชาวบ้านกับบริษัทเอกชนในประเทศไทยก็มีอยู่บ้างแล้ว เท่าที่ทราบส่วนใหญ่บริษัทอุตสาหกรรมจะนำวัตถุดิบจากส่วนกลางไปให้ชาวบ้านใช้แรงงานผลิตในชนบทผลิต แต่หากมีการสนับสนุนให้ชาวบ้านผลิตโดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในพื้นที่ด้วย จะเป็นการสร้างรายได้ให้ชาวบ้านในชนบทได้มากขึ้น

 

อ้างอิงจาก  หนังสือความหลากหลายทางชีวภาพกับการผลิตปศุสัตว์ ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ของยอดชาย ทองไทยนันท์