คำแนะนำสำหรับประชาชน เพื่อป้องกันโรคไข้หวัดนก

ความรู้เรื่องโรคไข้หวัดนก

     โรคไข้หวัดนกเป็นโรคติดต่อของสัตว์ประเภทนก ตามปกติโรคนี้ติดต่อมายังคนได้ไม่ง่ายนัก แต่คนที่สัมผัสใกล้ชิดกับสัตว์ที่เป็นโรคอาจติดเชื้อได้ มีรายงานการเกิดโรคในคนเป็นครั้งแรกในปี 2540 เมื่อเกิดโรคระบาดของสัตว์ปีกในฮ่องกง โรคไข้หวัดนกเกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่บางสายพันธุ์ที่พบในนก ซึ่งอาจเป็นแหล่งรังโรคในธรรมชาติ โรคอาจแพร่มายังสัตว์ปีกในฟาร์ม คนติดโรคได้โดยการสัมผัสกับสัตว์ปีกที่ป่วยหรือตาย เชื้อที่อยู่ในน้ำมูก น้ำลาย และมูลของสัตว์ป่วย อาจติดมากับมือ และเข้าสู่ร่างกายทางเยื่อบุของจมูกและตา ทำให้เกิดโรคคล้ายไข้หวัดใหญ่ มีระยะฟักตัว 1 ถึง 3 วัน ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูง หนาวสั่น ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย เจ็บคอ ไอ ผู้ป่วยเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีโรคประจำตัวอาจมีภูมิคุ้มกันไม่ดี อาจมีอาการรุนแรงได้ โดยจะมีอาการหอบ หายใจลำบาก เนื่องจากปอดอักเสบรุนแรง ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อโรคไข้หวัดนก ได้แก่ ผู้ที่ทำงานในฟาร์มสัตว์ปีก ผู้ที่ฆ่าหรือชำแหละสัตว์ปีก ในพื้นที่เกิดโรคไข้หวัดนกระบาด โรคไข้หวัดนกต่างจากไข้หวัดใหญ่ กล่าวคือ ในปัจจุบันยังไม่พบผู้ป่วยจากการติดต่อของโรคไข้หวัดนกจากคนสู่คน

 แนวทางปฏิบัติถ้าพบนกหรือไก่ที่เลี้ยงตาย

   1. อาการไข้หวัดนกในสัตว์ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น ชนิดของสัตว์ อายุ โรคแทรกซ้อน จำนวนเชื้อ ชนิดของเชื้อ แต่อาการที่พบได้ทั่วไปคือ สัตว์ซูบผอม ซึม ไม่กินอาหาร ขนยุ่ง ไอจาม ไข้ หายใจลำบาก น้ำตาไหลมาก หน้าบวม หงอนมีสีคล้ำ และอาจมีอาการของระบบประสาทและท้องเสีย รายที่รุนแรงจะตายกระทันหันไม่แสดงอาการ

   2. เมื่อพบว่าสัตว์ปีก เช่น ไก่ เป็ด หรือนกที่เลี้ยงไว้ในบ้านป่วยตายอย่างรวดเร็ว หรือผิดปกติมากกว่า 1 ตัวขึ้นไป หรือมีนกตกลงมาตายในบริเวณบ้าน หรือใกล้บ้าน ให้ทำการทำลายซากสัตว์ปีกดังกล่าว ทำการเผาหรือฝัง โดยขุดหลุมลึกประมาณ 1 เมตร ใส่ซากสัตว์ปีกลงไป แล้วราดทับด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรค เช่น น้ำคลอรีน หรือปูนขาว แล้วฝังกลบทับให้แน่น โดยหลีกเลี่ยงการสัมผัสซากไก่โดยตรง ให้สวมอุปกรณ์ป้องกันร่างกาย เช่น สวมถุงพลาสติก/ถุงมือ สวมผ้าปิดจมูกในขณะที่เก็บ และล้างมือให้สะอาดทันทีหลังเก็บซากสัตว์แล้ว

   3. ควรเก็บตัวอย่างซากสัตว์ที่ตายส่งตรวจหาสาเหตุการตาย โดยใส่ถุงพลาสติก 2 ชั้น มัดปากถุงให้แน่น เก็บใส่ภาชนะแช่น้ำแข็ง ส่งป้องปฏิบัติการตรวจวินิจฉัยโรคของกรมปศุสัตว์ที่อยู่ใกล้ที่สุด หลังการเก็บซากสัตว์ ต้องทำความสะอาดอุปกรณ์ที่ใช้ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรค

แนวทางปฏิบัติสำหรับประชาชนเพื่อป้องกันโรคไข้หวัดนก

  ผู้บริโภคไก่และผลิตภัณฑ์จากไก่

   1. เพื่อป้องกันโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจและโรคติดเชื้อระบบทางเดินอาหาร การบริโภคเนื้อสัตว์ รวมทั้งเนื้อไก่และไข่ไก่ โดยทั่วไปจึงควรรับประทานเนื้อที่ปรุงให้สุกเท่านั้น เนื่องจากเชื้อโรคต่าง ๆ ที่อาจปนเปื้อนมา ไม่ว่าจะเป็นไวรัส แบคทีเรีย หรือพยาธิ จะถูกทำลายไปด้วยความร้อน

   2. เนื้อไก่และไข่ไก่ที่มีอยู่ตามท้องตลาดขณะนี้ ถือว่ามีความปลอดภัย สามารถบริโภคได้ตามปกติ แต่ต้องรับประทานเนื้อไก่และไข่ที่ปรุงสุกเท่านั้น งดการรับประทานอาหารที่ปรุงกึ่งสุกกึ่งดิบ

   3. เชื้อไวรัสไข้หวัดนกทำลายได้ง่าย ด้วยความร้อนที่อุณหภูมิ 60 องศาเซลเซียส เชื้อจะถูกทำลายภายใน 30 นาที ฉะนั้นไม่ควรกินไก่สุก ๆ ดิบ ๆ ที่เนื้อแดงมีเลือดปน และหากจำเป็นต้องหั่นไก่เพื่อปรุงอาหารหลังหั่นเสร็จแล้ว ให้ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่หรือผงซักฟอกทันที

   4. การกินไข่ ไม่ควรกินไข่ลวก ควรกินแบบไข่ต้มสุก ไม่เป็นแบบยางมะตูม ให้กินไข่ดาวที่สุก และเชื้อนี้จะขับออกมากับสิ่งขับถ่าย ดังนั้น ไข่ควรจะล้างทำความสะอาด เช็ดให้แห้งก่อนเก็บในตู้เย็น หลังจากนั้นให้ล้างมือ ฟอกสบู่ให้สะอาด

 ผู้ประกอบอาหาร

    ผู้ประกอบอาหารทั้งเพื่อการจำหน่ายและแม่บ้านที่เตรียมอาหารในครัวเรือนเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการป้องกันโรคติดต่อจากอาหาร กระทรวงสาธารณสุขขอเน้นการป้องกันดังนี้

    1. ควรเลือกเนื้อไก่และผลิตภัณฑ์จากไก่จากแหล่งที่มีการรับรองมาตรฐานหรือร้านค้าประจำ และเลือกซื้อไก่สดที่ไม่มีลักษณะบ่งชี้ว่าอาจตายด้วยโรคติดเชื้อ เช่น เนื้อมีสีคล้ำ มีจุดเลือดออก เป็นต้น สำหรับไข่ ควรเลือกฟองที่ดูสดใหม่ และไม่มีมูลไก่ติดเปื้อนที่เปลือกไข่ ก่อนปรุงควรนำมาล้างให้สะอาด   

    2. ไม่ใช้มือที่เปื้อนมาจับต้องจมูก ตา และปาก และหมั่นล้างมือบ่อย ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจับต้องเนื้อสัตว์ และเปลือกไข่ที่มีมูลสัตว์เปื้อน 3. ควรแยกเขียงสำหรับหั่นเนื้อไก่ และมีเขียงสำหรับหั่นอาหารที่ปรุงสุกแล้ว หรือผัก ผลไม้ โดยเฉพาะ ไม่ใช้เขียงเดียวกัน

 การป้องกันโรคให้แก่เด็ก

   1. เนื่องจากเด็กมักมีนิสัยชอบเล่นคลุกคลีกับสัตว์เลี้ยง รวมทั้งไก่และนก และหากติดเชื้อไข้หวัดนกมักป่วยรุนแรง ดังนั้นในช่วงที่มีโรคระบาดในสัตว์ปีก มีสัตว์ตายมากผิดปกติ พ่อแม่ ผู้ปกครอง ควรระมัดระวังดูแลเด็กให้ใกล้ชิด และเตือนไม่ให้เด็กจับอุ้มไก่หรือนก หรือจับต้องซากสัตว์ปีกที่ตาย และต้องฝึกสุขนิสัยที่ดีให้เด็ก โดยเฉพาะการล้างมือทุกครั้งหลังจับต้องสัตว์ 2. หากเด็กมีอาการป่วย สงสัยเป็นโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ ต้องรีบพาไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาโดยเร็วที่สุด โดยทั่วไป เมื่อได้รับการรักษาและดูแลอย่างถูกต้อง เด็กจะค่อย ๆ มีอาการดีขึ้นภายใน 2 ถึง 7 วัน แต่ควรสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด หากมีอาการรุนแรงขึ้น เช่น มีอาการหอบ ต้องรีบพาไปโรงพยาบาลทันที

 คำแนะนำทั่วไปในการรักษาสุขภาพ และพฤติกรรมอนามัยเพื่อป้องกันโรคติดเชื้อ

    1. ควรรักษาร่างกายให้แข็งแรง เพื่อให้ร่างกายมีภูมิต้านทานโรคได้ดี โดยการรับประทานอาหารให้ครบถ้วน รวมทั้งผักและผลไม้ งดบุหรี่และสุรา นอนหลับพักผ่อนให้พอเพียง ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และในช่วงอากาศเย็น ควรสวมเสื้อผ้าให้ร่างกายอบอุ่น

    2. หากมีอาการไม่สบาย เช่น มีไข้ ปวดศีรษะ หนาวสั่น เจ็บคอ ไอ เป็นต้น ต้องรีบไปพบแพทย์ทันที และแจ้งแพทย์ด้วยว่าทำงานในฟาร์มเลี้ยงสัตว์ หรือมีประวัติสัมผัสซากสัตว์

ขอขอบคุณข้อมูล ที่มาจาก เว็บไซต์  http://www.ku.ac.th/e-magazine/october47/agri/bird.html