วันที่ 19 พฤษภาคม 2565 นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เป็นประธานในพิธี เปิดโครงการสัตวแพทย์พระราชทานในพระราชดำริสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา นายเจษฎา จิตรัตน์ ให้การต้อนรับคณะกรรมการโครงการสัตวแพทย์พระราชทาน พร้อมด้วยนายกิติกรณ์ เจนไพบูลย์ ปศุสัตว์จังหวัดสงขลา ปศุสัตว์เขต 9 หัวหน้าส่วนราชการ คณาจารย์ นิสิต นักศึกษา ผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์เข้าร่วมในพิธีเปิด ณ ศูนย์ฝึกอบรมและพัฒนาการกีฬา องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา มุ่งหวังช่วยเหลือสัตว์และปศุสัตว์ของเกษตรกรให้เข้าถึงการรักษา และเกษตรกรได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีและความรู้ด้านการเลี้ยงสัตว์

     นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า โครงการสัตวแพทย์พระราชทานในพระราชดำริ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง จังหวัดสงขลา จัดขึ้นระหว่างวันที่ 18-20 พฤษภาคม 2565 ณ จังหวัดสงขลา ดำเนินการออกหน่วยสัตวแพทย์บริการในพื้นที่อำเภอเมืองสงขลา อำเภอหาดใหญ่ อำเภอรัตภูมิ อำเภอควนเนียง อำเภอระโนด และอำเภอสทิงพระ โดยเป็นการบูรณาการของสัตวแพทย์ไทยทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน ผู้ประกอบการ สถาบันการศึกษา และประชาชน ร่วมกันจัดกิจกรรม เช่น จุดบริการสุนัขแมว จุดบริการคลินิกโคเนื้อ จุดบริการกิจกรรมด้านแพะเนื้อ จุดบริการกิจกรรมด้านโคนม กิจกรรมด้านกระบือ กิจกรรมการถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีด้านปศุสัตว์ ตลอดจนการให้ความรู้ด้านการแปรรูปสินค้าปศุสัตว์ เป็นต้น โดยเกษตรกรและประชาชนชาวจังหวัดสงขลา จะได้รับการตรวจรักษาพยาบาลสัตว์เลี้ยงของเกษตรกรที่มีฐานะยากจน อยู่ห่างไกลสถานบริการของภาครัฐ เพื่อป้องกันโรคระบาดทั้งจากสัตว์ และโรคสัตว์สู่คน มิให้เกิดการแพร่ระบาดในพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งการดำเนินการโครงการสัตวแพทย์พระราชทานฯ ในพื้นที่จังหวัดสงขลามีเป้าหมายเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์มารับบริการไม่น้อยกว่า 1,500 ราย และสัตว์เลี้ยงของเกษตรกรไม่น้อยกว่า 8,300 ตัว โดยมีผู้เข้าร่วมปฏิบัติงานจากหน่วยงานต่างๆ ประมาณ 270 คน
      การดำเนินงานโครงการสัตวแพทย์พระราชทานฯดำเนินงานมาตั้งแต่ปี 2550 จนถึงปัจจุบัน เป็นงานสนองพระราชดำริ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการบริการประชาชนชาวไทย ให้มีความอยู่ดีกินดีโดยถ้วนหน้า และเสมอภาคกัน เป็นการแบ่งเบาพระราชกรณียกิจอีกทางหนึ่ง สร้างคุณประโยชน์ให้แก่เกษตรกร ผู้ยากไร้ อยู่ห่างไกล และขาดโอกาส โครงการสัตวแพทย์พระราชทานฯ เป็นการบูรณาการความร่วมมือของสัตวแพทย์ไทย และบุคลากรทุกภาคส่วน ทั้งในส่วนของวิชาชีพสัตวแพทย์ และวิชาชีพอื่นๆ ร่วมผนึกกำลังในการใช้เทคโนโลยี และวิชาการอันทันสมัยของแขนงต่างๆ เพื่อบริการประชาชน ให้ได้ผลสำเร็จ ตามพระราชเสาวนีย์ ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าว