การควบคุมการเคลื่อนย้ายสัตว์

ความมุ่งหมาย

    เพื่อควบคุมไม่ให้สัตว์นำโรคระบาดจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งไม่ว่าจะเป็นภายในหรือจากนอกประเทศ ดังนั้นสัตว์ที่จะเคลื่อนย้ายจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งจึงจำเป็นต้องได้รับการตรวจสุขภาพว่าปราศจากโรคระบาดสัตว์ชนิดใด ๆ และทำการฉีดวัคซีนสร้างภูมิคุ้มโรคสำหรับโรคระบาดบางชนิดตลอดจนการทำลายเชื้อโรคระบาดที่ตัวสัตว์และยานพาหนะที่ใช้ในการขนย้ายด้วย

   การเคลื่อนย้ายสัตว์ภายในราชอาณาจักร

•การเคลื่อนย้ายเข้าใน-ออกนอก และ หรือภายในเขตที่ทางราชการกำหนดเป็นเขตโรคระบาดหรือเขตสงสัยว่ามีโรคระบาด เมื่อมีโรคระบาดสัตว์เกิดขึ้นในท้องที่ใด ทางราชการจะประกาศให้ท้องที่นั้นและใกล้เคียงเป็นเขตโรคระบาดหรือสงสัยว่ามีโรคระบาดโดยจะระบุชื่อโรคและชนิดของสัตว์ที่เป็นโรคซึ่งต้องควบคุมการเคลื่อนย้ายไว้ด้วย เมื่อมีการประกาศเขตท้องที่ใดเป็นเขตดังกล่าวแล้ว การเคลื่อนย้ายสัตว์ชนิดที่ระบุไว้ในประกาศจะเป็นการเคลื่อนย้ายภายในเขตนั้นออกนอกเขตนั้น หรือเข้าในเขตนั้น ผู้เคลื่อนย้ายจะต้องได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากสัตวแพทย์เสียก่อนจึงจะเคลื่อนย้ายได้ก่อนออกใบอนุญาตสัตวแพทย์ต้อง่ตรวจสุขภาพว่าสมบูรณ์และต้องฉีดวัคซีนป้องกันโรคนั้น ๆ ไว้แล้วกักไว้ดูอาการระยะหนึ่งอย่างน้อย 10 วัน  เมื่อเห็นว่าสัตว์ปราศจากโรคจึงออกใบอนุญาตให้เคลื่อนย้ายได้

•การเคลื่อนย้ายไปต่างจังหวัด  สัตว์ที่ต้องขอใบอนุญาตเคลื่อนย้ายในกรณีนี้ได้แก่ ช้าง ม้า วัว ควาย แพะ แกะ สุกร และซากของสัตว์ดังกล่าว โดยปกติเมื่อสัตว์แพทย์ประจำท้องที่ (ปศุสัตว์จังหวัด ปศุสัตว์อำเภอ) ได้ตรวจสุขภาพและสอบที่มาของสัตว์ว่าไม่ได้มาจากแหล่งที่เกิดโรคระบาดหรือแหล่งที่สงสัยว่ามีโรคระบาดแล้ว ก็จะอนุญาตให้เคลื่อนย้ายไปต่างจังหวัดได้ เว้นแต่กรณีที่ท้องที่จังหวัดใดประกาศเป็นเขตโรคระบาดหรือสงสัยว่ามีโรคระบาด สัตวแพทย์ผู้อนุญาตต้องดำเนินการตามระเบียบวิธีการเคลื่อนออกนอกเขตโรคระบาดฯ ที่ได้กล่าวมาแล้วในกรณีการเคลื่อนย้ายเข้าในออกนอกและหรือภายในเขตที่ทางราชการกำหนดเป็นเขตโรคระบาดหรือเขตสงสัยว่ามีโรคระบาดทันที มีกรณียกเว้นไม่ต้องขออนุญาตเคลื่อนย้ายสำหรับสัตว์ที่เจ้าของนำไปเลี้ยงหรือใช้งานชั่วคราว เช่น สัตว์ที่มีภูมิลำเนาตามแนวเขตจังหวัดที่ต้องนำไปเลี้ยงในเขตท้องที่อีกจังหวัดหนึ่งโดยไป-กลับเป็นปกติธุระ อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนย้ายไปต่างจังหวัดตามลักษณะนี้หากเป็นการเคลื่อนย้ายเข้าไปในเขตปลอดโรคระบาดก็ต้องปฏิบัติตามระเบียบที่กำหนดไว้สำหรับเขตปลอดโรคระบาดโดยเฉพาะด้วย

•การเคลื่อนย้ายเข้าเขตปลอดโรคระบาด ทางราชการได้ประกาศให้ท้องที่ภาคใต้ของประเทศไทยตั้งแต่ชายเขตจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ต่อจังหวัดเพชรบุรี ลงไปตลอดภาคใต้เป็นเขตปลอดโรคระบาดสัตว์ชนิดรินเดอร์เปสท์และโรคปากและเท้าเปื่อย โรคทั้ง 2 นี้เป็นในวัว ควาย สุกร แพะ แกะ ดังนั้นท้องที่ดังกล่าวจึงเป็นท้องที่ควบคุมพิเศษ  ผู้ที่จะเคลื่อนย้ายสัตว์ 5 ประเภทข้างต้นเข้าในหรือผ่านเขตนี้ต้องได้รับใบอนุญาตจากอธิบดีกรมปศุสัตว์หรือสัตวแพทย์ที่อธิบดีกรมปศุสัตว์มอบหมาย  โดยมีระเบียบวิธีการยุ่งยากซับซ้อน  ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความละเอียดในการที่จะกลั่นกรองมิให้สัตว์นำโรคทั้ง 2 ชนิดนั้นลงไประบาดในภาคนี้ ทางราชการจะพิจารณาอนุญาตให้ในรายที่มีความจำเป็นจริง ๆ เพื่อการขยายพันธุ์เท่านั้น

ข้อแนะนำสำหรับผู้จะทำการเคลื่อนย้ายสัตว์หรือซากสัตว์

•กรณีเคลื่อนย้ายเข้า-ออก  ภายในเขตเกิดโรคหรือสงสัยว่ามีโรคระบาด ให้ติดต่อกับสัตวแพทย์ประจำท้องที่ (ปศุสัตว์จังหวัด ปศุสัตว์อำเภอ) หรือสัตวแพทย์หน่วยปราบโรคที่มีหน้าที่รับผิดชอบในท้องที่นั้น ๆ กรณีเคลื่อนย้ายไปต่างจังหวัด หรือเคลื่อนย้ายเข้าใน ผ่านเขตปลอดโรค ให้ติดต่อสัตวแพทย์ประจำท้องที่ (ปศุสัตว์จังหวัด ปศุสัตว์อำเภอ) เพื่อยื่นคำร้อง เจ้าหน้าที่ดังกล่าวจะชี้แจงรายละเอียดระเบียบวิธีปฏิบัติให้ทราบ

•ค่าใช้จ่ายที่ต้องเสีย มีค่าทำลายเชื้อโรคผ่านด่านกักสัตว์ตัวละ 5 บาท และค่าวัคซีนป้องกันโรคตามราคาที่ทางราชการกำหนด(เงินจำนวนนี้เป็นรายได้แผ่นดิน)

•ผู้เคลื่อนย้ายควรมีสถานที่สำหรับกักสัตว์เป็นเอกเทศ  เพื่อตรวจดูอาการก่อนอนุญาตที่เจ้าหน้าที่สามารถตรวจสุขภาพสัตว์ได้ตลอดเวลาที่กัก

•เมื่อได้รับการอนุญาตให้เคลื่อนย้ายได้แล้ว ผู้เคลื่อยย้ายต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในใบอนุญาตโดยเคร่งครัด เช่น การใช้ยานพาหนะ การนำสัตว์เข้าไปผ่านและรับการตรวจที่จุดตรวจสัตว์ระหว่างเดินทางและแจ้งสัตวแพทย์ปลายทาง

•ผู้เคลื่อนย้ายสัตว์ที่ไม่มีใบอนุญาตหรือมีใบอนุญาตแต่ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขในใบอนุญาตมีความผิดต้องดำเนินคดีทุกราย ความผิดเกี่ยวกับการเคลื่อนย้ายสัตว์นี้ไม่สามารถเปรียบเทียบปรับขั้นพนักงานสอบสวนได้ ดังนั้นเมื่อถูกจับกุมแล้วท่านอาจจะต้องถูกคุมขังในระหว่างการสอบสวนและสัตว์ของท่านต้องกักไว้ดูอาการที่ด่านกักสัตว์อีก 15 วันด้วย

การควบคุมการเคลื่อนย้ายสัตว์เป็นผลประโยชน์โดยตรงของเจ้าของสัตว์อันจะเป็นการส่งผลให้เกิดการอยู่ดี กินดี เพิ่ม่รายได้แก่ประเทศชาติเป็นส่วนรวม  เป็นการพัฒนาอาชีพและเพิ่มผลผลิตของเกษตรกรอย่างหนึ่ง  ดังนั้นทุกครั้งที่จะเคลื่อนย้ายสัตว์โปรดให้เจ้าหน้าที่ของกรมปศุสัตว์ได้รับใช้ท่านในการตรวจสุขภาพสัตว์และป้องกันโรคระบาด นอกจากปัญหาการเคลื่อนย้ายแล้ว เจ้าหน้าที่พร้อมที่จะให้บริการแนะนำในปัญหาการเลี้ยงสัตว์ทั่วไป ตลอดจนการป้องกัน กำจัดโรคระบาดสัตว์ด้วย

 

ที่มาของบทความ นายนิยม แปลงมาลย์ เผยแพร่เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2561